วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บางระกำโมเดล


>>>>  บางระกำโมเดล<<<<



บางระกำ เป็น 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก บางระกำ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสายเดียวของภาคเหนือที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่รองรับกักเก็บน้ำอำเภอบางระกำ เป็นพื้นที่รับน้ำต่อจากจังหวัดสุโขทัย จึงหนีไม่พ้นเมื่อฤดูน้ำหลาก บางระกำ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปีแล้วปีเล่าท่วมซ้ำซากมายาวนาน จนเรียกได้ว่าน้ำท่วมบางระกำกลายเป็นวิถีชีวิตคนบางระกำไปแล้วก็ว่าได้ น้ำท่วมจึงเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของคนบางระกำ วิกฤต คือคนบางระกำได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขังเป็นแรมเดือน ในแต่ละปีที่ถูกน้ำท่วม สิ่งที่มากับน้ำนั่นคือปลา จึงเป็นโอกาส ของคนหาปลา ที่ช่วงฤดูน้ำหลากจะทำให้พวกเขาเหล่านั้น มีอาชีพมีรายได้จากการหาปลา ขายปลา ทำรายได้ไม่น้อยในแต่ละปี
 
     บางระกำ กลายเป็นที่ฮือฮา เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เมื่อ"บางระกำโมเดล"ได้ถูกหยิบยกมามากล่าวถึงจากปากนายกรัฐมนตรี(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แล้วบางระกำโมเดลคืออะไร อะไรคือบางระกำโมเดล ขอเล่าสู่กันฟังอย่างนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2554 นี้ ในพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัดประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วม จังหวัดพิษณุโลกเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมเช่นกัน โดยเฉพาะอำเภอบางระกำ ต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมอย่างหนัก ระดับน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่บางระกำใกล้เคียงกับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2549 ทีเดียว ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมและได้ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2554 โดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้แวะพักและเปลี่ยนเครื่องบินที่จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นโอกาสดีของจังหวัดพิษณุโลก ที่นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ขอโอกาสและขอเวลานายกรัฐมนตรี สั้นๆประมาณ 10-15 นาที เพื่อสรุปสถานการณ์น้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุกทกภัย ในพื้นที่ให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกยังได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ระบบทางด่วนน้ำ (warter way) ซึ่งตรงใจนายกรัฐมนตรี ได้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชิงบูรณาการ "บางระกำโมเดล" ขึ้นมา ในการประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ณ กระทรวงมหาดไทย มีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยนายยกรัฐมนตรีได้หยิบยก "บางระกำโมเดล" มากล่าวถึง และมีบัญชาให้นำบางระกำโมเดลที่จังหวัดพิษณุโลก ไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเชิงบูรณาการ หัวใจสำคัญของบางระกำโมเดลที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง คือเมื่อเกิดปัญหาข้นมาจังหวัดและหน่วยงาน จะต้องเข้าชาร์จหรือเทคแอ็คชั่น ด้วยการลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อย่างรวดเร็ว ทันที ทันเหตุการณ์ และถูกจุด ลดความรู้สึกของประชาชนที่ประสบภัยว่า ถูกทอดทิ้งหรือไม่ได้รับการเหลียวแลจากราชการ โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายการดำเนินงานบางระกำโมเดล โดยใช้หลัก 2P2R หลังจากรับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ไม่รอช้าเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสังการให้มีการขับเคลื่อน "บางระกำโมเดล" ทันที
 
แนวทางดำเนินงานบางระกำโมเดล
 
     1. การเตรียมการ ( Preparation )
         จังหวัดจะต้องมีการจัดทำคลังข้อมูล ด้านพื้นที่ ที่แบ่งเป็นพื้นที่วิกฤต พื้นที่เสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงข้อมูลพื้นฐานต่างๆเกี่ยวกับสภาพปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและอำเภอบางระกำ ข้อมูลการช่วยเหลือประชาชน เช่น การแจกถุงยังชีพ งบประมาณ และอื่นๆ โดยมอบหมายให้กลุ่มยุทธศาสตร์สำนักงานจังหวัดเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลกเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ในการวางแผนให้ชัดเจนเป็นระบบ
 
     2. การช่วยเหลือเบื้องต้น ( Respones )
          จังหวัดมอบหมายให้อำเภอพื้นที่ เป็นแม่งานที่จะต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ทันที ถูกจุดในเบื้องต้น เนย้นในเรื่องของปัจจัย 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ให้อำเภอบางระกำเป็นแม่งาน "บางระกำโมเดล" ซึ่งจะต้องจัดทีมและแบ่งงานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯอำเภอ จัด Call Center อยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อคอยรับข่าวสาร แจ้งการช่วยเหลือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือได้ทันที และจังหวัดมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดทีมแพทย์ พยาบาล เข้าดูแลช่วยเหลือในเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชนที่ถูกน้ำท่วม
 
     3. การฟื้นฟู เยียวยา ( Recovery )
          จังหวัดมอบหมายให้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ที่ดูแลในเรื่องข้อมูลการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังน้ำลด และประสานงานกับหน่วยงานร่วม ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเกษตร(พืช) ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ ด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูจิตใจ ด้านศาสนสถาน ด้านสถานศึกษา ด้านลูกค้าของ ธ.ก.ส. รวมถึงด้านการประชาสัมพันธ์
 
     4. การแก้ไขระยะยาว ( Prevention )
          จังหวัดได้มอบหมายให้ โครงการชลประทานพิษณุโลกเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ที่จะต้องวางแผนจัดหางบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่จะต้องมีการบริหารจัดการกับน้ำเกิน และจัดการกักเก็บน้ำที่จะนำมาใช้ในฤดูแล้ง ทั้งในเรื่อง ระบบทางน้ำด่วน (Water Way) การจัดทำแก้มลิง การจัดทำคลองเชื่อมแก้มลิง การจัดทำแก้มลิงขนาดใหญ่ให้เป็นพื้นที่เช่า และการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม












     ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า บางระกำโมเดล ไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือยาวิเศษ จนผู้คนเข้าใจผิดคิดกันว่า เมื่อเกิดหรือมีบางระกำโมเดลแล้ว ปัญหาน้ำท่วมบางระกำจะหมดไป นั่นไม่ใช่ แม้จะมีบางระกำโมเดล น้ำก็จะยังท่วมบางระกำอยู่เพราะบางระกำพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ เป็นแอ่งกะทะ ลุ่มน้ำยมของคนบางระกำ ที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอยู่อย่างนี้ เพียงแต่บางระกำโมเดลจะเป็นตัวช่วยหรือเป็นต้นแบบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกียวข้อง ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยมีความเดือดร้อนน้อยลง เพราะเมื่อเกิดภัยทุกฝ่ายมีต้นแบบในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ทันที ถูกจุด ลดปัญหาผลกระทบต่างๆที่จะตามมา และบางระกำโมเดลจะช่วยทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าอยู่กับน้ำได้อย่างไร นี่คือหัวใจของบางระกำโมเดลที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ต้องการให้เกิดขึ้น และจะเป็นความหวังของคนไทยทั่วทั้งประเทศที่จะได้อานิสงส์ ได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนนั่นเอง











                                                       



                                                                   อ้างอิงโดย : http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=6253

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น